29 เม.ย. 2554

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย


อุทยานประศาสตร์สุโขทัย
ที่ตั้ง
 อุทยานประศาสตร์สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานกรุงสุโขทัย ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยซึ่งมีอำนาจอยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ของประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า (เขตเทศบาลตำบลเมืองเก่า) อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยปัจจุบัน (เขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี) ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนจรดวิถีถ่อง)
ประวัติศาสตร์สุโขทัยโดยสังเขป
สุโขทัยในอดีตเคยเป็นราชธานีแห่งแรกของชาติไทย เมื่อ 700 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนึ่งในเขตภาคเหนือ ตอนล่าง มีพื้นที่รวมประมาณ 6,596 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างกรุงเทพฯ 427 กิโลเมตรและห่างจากเชียงใหม่ 298 กิโลเมตร โดยสุโขทัย ปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอกงไกรลาศ อำเภอคีรีมาศ อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสำโรง อำเภอสวรรคโลก                 และอำเภอศรีนคร
คำว่า สุโขทัย มาจากคำสองคำคือ สุข+อุทัย หมายความว่า รุ่งอรุณแห่งความสุข สุโขทัยได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ. ศ. 1800 มีการสถาปนาราชวงศ์พระร่วงขึ้นปกครองสุโขทัย โดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นปฐมกษัตริย์ ตลอดระยะเวลา 120 ปี ราชวงศ์สุโขทัย มีกษัตริย์ปกครองหลายพระองค์ ที่สำคัญคือ "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช" ผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย และวางรากฐานการเมือง การปกครอง ศาสนา ตลอดจนขยายอาณาเขตออกไป อย่างกว้างขวาง และด้วยความสำคัญ ในฐานะที่เป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะ ของไทยในสมัยเริ่มสร้างอาณาจักร ที่ยังหลงเหลืออยู่
            บริเวณที่ตั้งของจังหวัดสุโขทัยเป็นบริเวณที่ราบตอนล่างของภาค เหนือ ได้ค้นพบหลักฐานการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่พบใน เขตอำเภอศรีนคร อำเภอบ้านด่านลานหอย และอำเภอคีรีมาศ ซึ่งแสดงถึงหลักฐานทางชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ชุมชนเหล่านี้คงอยู่ต่อเนื่องกันและตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นในเวลาต่อมา
        จนกระทั่งประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 (พ.ศ. 1100 เป็นต้นมา) ชุมชนบริเวณนี้ได้มีการ ติดต่อกับดินแดนอื่นแถบบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นฐานวัฒนธรรมแบบทวารวดี โดยได้มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดชมชื่น อำเภอศรีสัชนาลัย
        หลักฐานทางศิลปกรรมในเขตเมืองเก่าสุโขทัยที่ศาลตาผาแดง และปรางค์เขาปู่จาในเขตอำเภอคีรีมาศ เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมเขมรโบราณในราวพุทธศตวรรษ ที่ 18 (พ.ศ.1700 เป็นต้นมา) และน่าจะเป็นการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองในวัฒนธรรมเขมร ในบริเวณที่ราบเชิงเขาหลวงเป็นครั้งแรก จนราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ปรากฏเรื่องราวการตั้งตนเป็นอิสระ เพื่อ ปกครองสุโขทัยของกลุ่มชน ซึ่งต่อมาเป็นบรรพชนของคนไทยในปัจจุบัน
        อาณาจักรสุโขทัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีนาวนำถม และเริ่ม ชัดเจนมากขึ้นในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ่อขุนบางกลางหาว พ.ศ. 1781 - 1822) อาณาจักรสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช 1841) อำนาจของอาณาจักรสุโขทัยในช่วง รัชสมัยของพระองค์มั่นคงมาก ได้ทรงแผ่อาณาเขตออกไปโดยรอบ วัฒนธรรมไทยได้เจริญขึ้นทุกสาขา ดังปรากฏในศิลาจารึกหลัก ที่ 1 ซึ่งเจริญทั้งด้านประวัติ-ศาสตร์ การสงคราม ภูมิศาสตร์ กฎหมาย ประเพณี การปกครอง การเศรษฐกิจ การสังคม ปรัชญา พระพุทธศาสนา การประดิษฐ์อักษรไทย และ อื่น ๆ ราชวงศ์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พระร่วงหรือสุโขทัย) ได้ปกครองอาณาจักรสุโขทัยสืบต่อมาเป็นเวลา 200 ปี ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยา
        ในการประชุม ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เมื่อ พ.ศ.2534 คณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงผลงานทาง สถาปัตยกรรมที่โดดเด่น นับเป็นตัวแทนของศิลปกรรมไทยยุคแรก และเป็นต้นกำเนิดของการสร้างประเทศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยอย่าง เป็นทางการเมื่อวันจันทร์ ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2531
ผังเมืองสุโขทัยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร กว้างประมาณ 1.6 กิโลเมตร ด้านทิศเหนือจดทิศใต้ยาว 2,000 เมตร ด้านทิศตะวันตกยาว 1,600 เมตร เป็นกำแพงพูนดิน 3 ชั้น โดยการขุดเอาดินขึ้นมาถมเป็นกำแพง และพื้นดินที่ขุดขึ้นยังเป็นคูน้ำไว้ใช้สอยและเป็นกำแพงน้ำขึ้นอีก 2 ชั้น กำแพง มีประตูเมือง 4 ประตู ด้านเหนือเรียกว่า "ประตูศาลหลวง" ด้านใต้เรียกว่า "ประตูนะโม" ด้านทิศตะวันออกเรียกว่า "ประตูกำแพงหัก" ด้านทิศตะวันตกเรียกว่า "ประตูอ้อ" ภายนอกกำแพงเมืองในรัศมี 5 กม. มีโบราณสถานประมาณ 70 แห่ง สร้างขึ้นไว้ในพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ภายในยังเหลือร่องรอยพระราชวังและวัดอีก 26 แห่ง วัดที่ใหญ่ที่สุดคือวัดมหาธาตุ อุทยานแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากรด้วยความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโก มีผู้เยี่ยมชมหลายพันคนต่อปี ซึ่งสามารถเดินเท้าหรือขี่จักรยานเที่ยวชมได้
        อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้รับการประกาศคุ้มครองครั้งแรก ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 โครงการฟื้นฟูอุทยานแห่งนี้ก็ได้รับการอนุมัติ และเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531 และในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ที่กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัย


สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภายในกำแพงเมือง

วัดมหาธาตุ


  
  เป็นวัดใหญ่อยู่กลางเมือง สร้างสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีพระเจดีย์ต่างๆ รวมถึง 200 องค์ นับเป็นวัดสำคัญประจำกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์แบบศรีวิชัยผสมลังกาก่อด้วยอิฐอยู่ที่มุม ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ ที่ด้านเหนือและด้าน ไต้เจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า "พระอัฎฐารศ" ด้านใต้ยังพบแท่งหินเรียกว่า "ขอมดำดิน" อีกด้วย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง


        เป็นสถานที่รวบรวม และจัดแสดงศิลปโบราณที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเมืองสุโขทัยและที่ ประชาชนมอบให้ บริเวณพิพิธภัณฑ์จะแบ่งส่วนการแสดงโบราณวัตถุไว้เป็น 3 ส่วนคือ
1.            อาคารลายสือไท 700 ปี เป็นอาคารใหม่ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าอาคารใหญ่ เป็นที่จัดแสดงศิลปวัตถุสมัยสุโขทัย เช่น พระพุทธรูป เครื่องใช้ ถ้วยชาม สังคโลก ศิลาจารึก ฯลฯ
2.            อาคารพิพิธภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น แสดงศิลปวัตถุในยุคสมัยต่างๆ มากมาย อาทิ พระพุทธรูปสำริด โอ่ง สังคโลก เครื่องศาสตราวุธ เครื่องถ้วยชามสังคโลก เงินตรา ท่อน้ำระบบชลประทานสุโขทัย ฯลฯ
3.            พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จะอยู่ด้านนอกโดยรอบอาคารใหญ่ เป็นที่ตั้งแสดงศิลปะวัตถุโบราณต่างๆ อาทิ พระพุทธรูปศิลา แผ่นจำหลัก รูปทรงอาคารไทยแบบต่างๆ เตาทุเรียงจำลอง เสมาธรรมจักศิลา เป็นต้น
        พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ยกเว้น วันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ค่าธรรมเนียมเข้าชม คนละ 30 บาท

ศาลตาผาแดง


      
  เป็นศาสนสถานตามคติศาสนาฮินดู ก่อด้วยศิลาแลง ส่วนยอดหักพังลงหมด รูปแบบทางสถาปัตยกรรม และประติมากรรมศิลาที่เป็นรูปเคารพเปรียบเทียบได้กับศิลปะในสมัยนครวัต (ราว พ.ศ. 1650-1720) จัดเป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเมืองสุโขทัย


เนินปราสาทพระร่วงหรือเขตพระราชวัง


     
   ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ เป็นซากอาคารก่อด้วยอิฐ ขุดแต่งบูรณะแล้ว มีฐานบัวโดยรอบทำด้วยปูนปั้น สันนิษฐานว่าเนินแห่งนี้คือที่ตั้งของพระที่นั่งหรือปราสาทที่ประทับของ กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงที่ครองกรุงสุโขทัยในกาลก่อน แต่องค์ปราสาทหาชิ้นดีไม่ได้ เพราะคงจะสร้างด้วยมือและไม้ เดี๋ยวนี้มีแต่ซากกระเบื้องมุงหลังคากระจัดกระจายทั่วไป ณ เนินปราสาทแห่งนี้เองที่ได้ค้นพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงฯ และพระแท่นมนังคศิลา

วัดตระพังเงิน


   
   คำว่า "ตระพัง" หมายถึง สระน้ำ หรือหนองน้ำ เป็นโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่บริเวณขอบตระพังเงินด้านทิศตะวันตก มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือดอกบัวตูมเป็นประธาน บริเวณเรือนธาตุจะมีชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนทั้ง 4 ทิศ ด้านหน้าเป็นวิหาร 7 ห้อง ฐานและเสาก่อด้วยศิลาแลง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย บริเวณตรงกลางตระพังเป็นเกาะขนาดเล็ก เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ บริเวณตระพังจะมีดอกบัวขึ้นอยู่รอบสระสวยงามมาก

พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช


      
  สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่องทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ลักษณะพระบรมรูป พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาด 2 เท่าขององค์จริง สูง 3 เมตร ประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่นมนังคศิลาบาตร พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน พระแท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ไว้ข้างๆ ลักษณะ พระพักตร์เหมือนอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น ถ่ายทอดความรู้สึกว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีน้ำพระทัยเมตตากรุณา ยุติธรรมและเฉียบขาด ที่ด้านข้างมีภาพแผ่นจำหลักจารึกเหตุการณ์เกี่ยวกับ พระราชกรณียกิจของพระองค์ตามที่อ้างถึงในจารึกสุโขทัย


นอกกำแพงเมืองด้านเหนือ
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว


        
เป็นอาคารทรงไทยสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ใกล้กับวัดพระพายหลวง เป็นศูนย์ให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมอุทยาน ประวัติศาสตร์สุโขทัย รวมทั้งจัดแสดงแบบจำลองของโบราณสถานต่างๆ ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย นักท่องเที่ยว ควรเริ่มต้นชมอุทยานฯ จากจุดนี้เพื่อจะได้เห็นภาพรวมของสุโขทัย   ในอดีต

วัดพระพายหลวง

    
      
  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ วัดนี้มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น มีปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธานของวัด ทำด้วยศิลาแลง แบบศิลปะลพบุรี ยังคงเห็นลายปูนปั้นที่ปรางค์ด้านทิศเหนือ ด้านหน้าปรางค์มีฐานวิหารเจดีย์ที่ปรักหักพัง ทางด้านประติมากรรม มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางต่างๆ เช่น นั่ง ยืน เดิน นอน ซึ่งส่วนใหญ่ชำรุดแล้วประดิษฐานที่มณฑปและซุ้มเจดีย์


แหล่งโบราณคดีเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย (เตาทุเรียง)

 
        
อยู่ใกล้วัดพระพายหลวงบริเวณแนวคูเมืองเก่าที่เรียกว่า "แม่โจน" เป็นเตาเผาถ้วยชามสมัยสุโขทัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ค้นพบเตาโดยรอบ 49 เตา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บริเวณคันคูแม่น้ำโจนด้านทิศเหนือ 37 เตา ด้านทิศใต้ข้างกำแพงเมือง 9 เตา และด้านทิศตะวันออก 3 เตา เตาเผาเครื่องสังคโลก มีลักษณะคล้ายประทุนเกวียน ขนาดกว้าง 1.50-2.00 เมตร ยาว 4.5 เมตร เครื่องปั้นดินเผาที่พบบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นประเภทถ้วยชามมีขนาดใหญ่ น้ำยาเคลือบขุ่นสีเทาแกมเหลือง มีลายเขียนสีดำ ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปดอกไม้ ปลา และจักร

 วัดศรีชุม

    
        ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระพายหลวงไปทางทิศตะวันตก 800 เมตร เป็นวัดที่ประดิษฐานพระอัจนะหรืออจนะ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และลักษณะของวิหารอันเป็นที่ประดิษฐานพระอัจนะนั้น สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้านก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเข้าไปภายใน และเดินขึ้นไปตามบันไดแคบๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์อัจนะ สามารถขึ้นไปถึงผนังด้านบนได้ ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่ แต่เลอะเลือนเกือบหมด ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี นอกจากนี้ บนเพดานช่องบันไดยังมีแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่เกาะสลักลวดลายต่างๆ ไว้ มีจำนวนทั้งหมด 50 ภาพ เมื่อเดินตามช่องทางบันไดขึ้นไปโผล่บนหลังคาวิหารมองเห็นทิวทัศน์อันงดงาม ของเมืองเก่าสุโขทัยได้โดยรอบ เป็นสาเหตุที่วิหารวัดศรีชุมจึงมีความเร้นลับซ่อนอยู่ เมื่อพิจารณากันอย่างลึกซึ้งจะพบว่า พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์ พระร่วงทรงพระปรีชาสามารถในด้านปลุกปลอบใจทหารหาญและด้านอื่นๆ อีกมาก เพราะผนังด้านข้างขององค์พระอจนะมีช่องเล็กๆ ถ้าหากใครแอบเข้าไปทางอุโมงค์แล้วไปโผล่ที่ช่องนี้และพูดออกมาดังๆ ผู้ที่อยู่ภายในวิหารจะต้องนึกว่าพระอจนะพูดได้ และเสียงพูดนั้นจะกังวานน่าเกรงขาม เพราะวิหารนี้ไม่มีหน้าต่าง แต่เดิมคงมีหลังคาเป็นรูปโค้งคล้ายโดม 

นอกกำแพงเมืองด้านตะวันตก
วัดสะพานหิน

  
       
 โบราณสถานด้านทิศตะวันตกของกำแพงเมืองที่มีความสำคัญเป็น อย่างยิ่ง วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินลูกเตี้ยสูงประมาณ 200 เมตร มีทางเดินปูด้วยหินชนวนแผ่นบางๆ จนถึงบริเวณลานวัด มีวิหารก่อด้วยอิฐ มีเสาก่อด้วยศิลาแลง 4 แถว 5 ห้อง ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระปางประทานอภัยสูง 12.50 เมตร เรียกว่า "พระอัฏฐารศ"

 เขื่อนสรีดภงค์ หรือทำนบพระร่วง


        
ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า ทำนบนี้เป็นเขื่อนดิน (คันดิน) สำหรับกั้นน้ำอยู่ระหว่างซอกเขาระหว่าง เขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา เพื่อกักน้ำและชักน้ำไปตามคลองส่งน้ำมาเข้ากำแพงเมืองเข้าสระตระพังเงิน ตระพังทอง เพื่อนำไปใช้ในเมืองและพระราชวังในสมัยโบราณ ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานได้ปรับปรุงบูรณะและซ่อมแซมขึ้นใหม่
 
นอกกำแพงเมืองด้านใต้

วัดเจดีย์สี่ห้อง
  
       
 โบราณสถานที่น่าสนใจคือ เจดีย์ที่เข้าใจว่าเป็นทรงลังกา ที่ฐานมีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปสิงห์ขี่ช้าง รูปเทวดาทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ถือแจกันดอกไม้ ลวดลายสวยงามมาก วัดเชตุพน
        ศิลปกรรมที่น่าสนใจ คือมณฑปสร้างด้วยหินชนวน ประดิษฐานพระพุทธรูป สี่อิริยาบถ คือ พระพุทธรูปแบบนั่ง ยืน เดิน นอน ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีการใช้วัสดุทั้งอิฐหินชนวน ศิลาแลง ในการก่อสร้างที่ประสานกันอย่างกลมกลืน ได้มีการพบศิลาจารึกหลักที่ 58 จารึกในปี พ.ศ. 2057 กล่าวว่าเจ้าธรรมรังสีสร้างพระพุธรูปในวัดนี้

นอกกำแพงเมืองด้านตะวันออก

วัดช้างล้อม

    
      
  เป็นโบราณสถานที่สำคัญ มีเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาเป็นประธานของวัด รอบฐานเจดีย์ ประดับด้วย ปูนปั้นเป็นรูปช้างโผล่ครึ่งตัว ด้านหน้ามีฐานวิหารก่อด้วยอิฐ และยังมีฐานกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ วัดตระพังทองหลาง
        ศิลปกรรมที่สำคัญคือ มณฑปรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐ ผนังด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ตอนประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับกษัตริย์ศากยราช และตอนเสด็จโปรดนางพิมพา นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของสุโขทัย


แผนที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย


เวลาเปิดทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น.  จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน 

ค่าเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
อัตราค่าเข้าชม  นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท หรือสามารถซื้อตั๋วรวมได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมอุทยานฯ ต่าง ๆ ในจังหวัดสุโขทัยได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน
** ในกรณีที่นำยานพาหนะเข้าเขตโบราณสถานจะต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกด้วย และที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท   ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการ รถจักรยาน ให้เช่าในราคาคันละ 20 บาท
            **    กรณีเข้าชมเป็นหมู่เป็นคณะ และต้องการวิทยากรนำชม หรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม  ติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย 64210 โทร. 0-5569-7310

การเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
รถยนต์
จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทางคือ
1.            จากทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านอำเภอพรานกระต่าย อำเภอคีรีมาศเข้าสู่จังหวัดสุโขทัย รวมระยะทาง 440 กิโลเมตร

2.            จากทางหลวงหมายเลข 1 ไปจนถึงประมาณกิโลเมตรที่ 50 บริเวณแยก อำเภอบางปะอิน
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านพระนครศรีอยุธยามุ่งสู่
นครสวรรค์แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 117 ตรงเข้าพิษณุโลก ก่อนจะเปลี่ยนไปใช้ทางหลวง
หมายเลข 12 เข้าสู่จังหวัดสุโขทัย รวมระยะทาง 427 กิโลเมตร


รถไฟ
การรถไฟแห่งประเทศไทย มีขบวนรถด่วน และรถเร็วออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปลงที่สถานีพิษณุโลกทุกวัน จากนั้นให้เดินทางต่อ โดยรถประจำทางไปสุโขทัยอีกประมาณ      59 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่หน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690, 0 2223 7010,  0 2223 7020

เครื่องบิน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปลงที่จังหวัดพิษณุโลกทุกวัน จากนั้นให้เดินทางต่อ โดยรถประจำทางไปสุโขทัยอีกประมาณ 118 กิโลเมตร สอบถามเที่ยวบิน เพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1566, 0 2280 0060, 0 2628 2000, 0 2356 1111 สาขาพิษณุโลก โทร. 0 5524 2971-2  และ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (สายการบินบางกอกแอร์เวย์) มีเที่ยวบินที่บินตรงไปสุโขทัย ทุกวันๆ ละ 1 เที่ยว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่               โทร. 0 2229 3456-63 สาขาสุโขทัย โทร. 0 5564 7225-6

รถโดยสารประจำทาง
บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารทั้งแบบธรรมดา และปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่ง หมอชิต ถนนกำแพงเพชร 2  ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2537 8055-6, 0 2936 2852-66